ความจริงหรือสัจจะ (Truth) คือสิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติกำหนด รอให้มนุษย์ค้นพบ เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ ซี่งแตกต่างจากข้อเท็จจริง (Fact) คือสิ่งที่ปรากฎหรือค้นพบด้วยวิธีการพิสูจน์ในสถานการณ์หนึ่ง แต่ ความเป็นจริง (Reality) คือสิ่งที่มีอยู่จริงตามบริบททางสังคม แตกต่างกับ ความเสมือนจริงหรือโลกเสมือน (Virtual reality: VR) ในยุคที่เทคโนโลยีโลกเสมือน (Metaverse) หนึ่งในความท้าทายที่เกิดจากโลกเสมือนคือกรณีของเด็กผู้หญิงที่ฆ่าตัวตายเพราะอวตารของตัวเองถูกข่มขืนในโลกเมตาเวิร์ด การเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า การละเมิดหรืออาชญากรรมในโลกเสมือนจะถูกพิจารณาอย่างไรในระบบกฎหมายจริง ความท้าทายอยู่ที่การกำหนดว่าคดีประเภทนี้จะต้องฟ้องร้องที่ศาลไหน และกฎหมายของประเทศใดจะเป็นที่ใช้บังคับ เนื่องจากเหตุการณ์ในโลกเสมือนถือเป็น “ความจริงเสมือน” ที่อาจไม่สามารถระบุได้ว่ามันเป็นการกระทำผิดกฎหมายในโลกจริงหรือไม่ ยังไม่มีแบบแผนทางกฎหมาย (Metaverse litigation platform) รองรับโลกเสมือนแต่อย่างใด
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ก็ได้ใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงมาใช้ประโยชน์มากมาย เช่นการใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจและรักษาผู้ป่วยจิตเวช เครื่องมือวินิจฉัยโรคด้วยเทคโนโลยีสร้างภาพอวัยวะภายในสามมิติ ทั้งในการตรวจวินิจฉัยและการผ่าตัดผ่านกล้อง การสร้างภาพเสมือนจริงในขณะสื่อสารร่วมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน การสื่อสารการแพทย์ทางไกล การแพทย์ระดับไม่โครหรือนาโน รวมถึงใช้ในระบบการเรียนการสอน และเป็นการสอนแบบ Simulation เป็นต้น
การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์โลกเสมือนก็ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้เช่นเดียวกันว่าภาพที่เห็นคือความเป็นจริงในส่วนใดและส่วนใดคือความเสมือนจริง และข้อจำกัดของเครื่องมืออุปกรณ์ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ เช่น เครื่องอัลตร้าซาวด์ 4 มิติที่ตรวจทารกในครรภ์มารดา เนื่องจากเป็นการส่งคลื่นเสียงและรับคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาแต่ละครั้งถี่ๆทำให้ได้ภาพเคลื่อนไหว เครื่องใส่สีให้เนื่องจากคลื่นเสียงไม่ได้ทะลุทะลวงเหมือนเอ็กเรย์สีที่เห็นจึงไม่ใช่สีจริง เมื่อคลอดออกมาพบว่ามีปานแดงจึงเกิดข้อโต้แย้งกันได้ เป็นต้น นวัตกรรมในทางกฎหมายจึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนตามบริบทของสังคมไปพร้อมกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ พร้อมกับความเป็นจริงและความเสมือนจริงที่ปรากฎ
สังคมศาสตร์โดยเฉพาะการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์คดี จึงเกี่ยวข้องกับคำว่าข้อเท็จจริง (Fact) และความเป็นจริง (Reality) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แล้วยังเกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ อย่างน้อยที่สุดต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based) เพื่อพิสูจน์ความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีอาญานั้น จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควรหรือปราศจากเหตุอันควรสงสัย (beyond reasonable doubt) จึงจะสามารถลงโทษจำเลยได้ หากไม่สามารถหาหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based) มาพิสูจน์จนสิ้นสงสัยก็จะต้องปล่อยจำเลยไป คดีแพ่งหลายคดีที่มีความซับซ้อนอาจจะจำเป็นต้องใช้หลักฐานเชิงประจักษ์พยานหลักฐานนั้นมีความน่าเชื่อถืออย่างชัดเจน (clear and convincing evidence) เพื่อยืนยันให้เชื่อว่าเป็นความจริงหรือข้อเท็จจริงที่ชัดเจน เช่นการพิสูจน์ทางนิติเวชหรือนิติวิทยาศาสตร์ หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based) แตกต่างกับ หลักฐานเชิงการรับรู้ (Perception) ซึ่งเกิดจากเพียงการรับสัมผัส (รูป รส กลิ่น เสียง กายสัมผัส) และตีความตามความเข้าใจโดยอัตวิสัยและสื่อสาร อย่างไรก็ตามการพิสูจน์ความจริงในเชิงการรับรู้ (Perception) ก็สามารถใช้ได้ในระดับที่ได้พบได้เห็นจากปรากฎการณ์เฉพาะหน้า ใช้เป็นหลักฐานความจริงในระดับเปรียบเทียบกันระหว่างคู่ความสองฝ่าย เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าใครเป็นผู้ที่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมากกว่ากัน ด้วยหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่า (Preponderance evidence) ใช้เป็นส่วนใหญ่ในคดีแพ่ง
ความจริงทางธรรมชาติ (Truth) เมื่อนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ค้นพบความจริงที่ได้จากงานวิจัย (Fact) นวัตกรรมทางการแพทย์ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว วิทยาศาสตร์เปลี่ยนโลก วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงจากการปรับตัวตามไปด้วย กฎหมายต้องเปลี่ยนตามเพื่อรองรับสถานการณ์และความท้าทายใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โลกแห่งความเป็นจริง (Reality) ผู้ป่วยมะเร็งได้รับการรักษาด้วยวิทยาการใหม่ๆ เซลล์รักษา ยีนรักษา ฮอร์โมนรักษา รักษามุ่งเป้า การแพทย์แม่นยำ หลากหลายของการแพทย์ทางเลือก การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะโดยนำอวัยวะคนเป็นคนตายมากเปลี่ยนให้ต้องมีกฎหมายรองรับว่าคนเป็นจะไม่ตาย คนตายแล้วจริงๆโดยการตายทางการแพทย์ การตรวจสอบพันธุกรรม (Genetic Testing) ที่ไม่เป็นการคัดพันธุ์มนุษย์ เทคโนโลยีแจริยพันธุ์ที่ไม่ใช่การสร้างมนุษย์ อุ้มบุญที่ไม่ใช่การค้ามนุษย์ ค้าตัวอ่อน ค้าไขหรืออสุจิ ทางเลือกให้ทำแท้งทารกธาลัสซีเมียหรือให้คลอดออกมารักษาด้วยสเต็มเซลล์ จึงต้องมีทั้งกฎหมายที่พัฒนาขึ้นเพื่อควบคุมปราบปราม และกฎหมายเพื่อส่งเสริม กฎหมายต้องส่งเสริมให้บุคคลสามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเองได้ หรือการแพทย์เฉพาะรายบุคคล ก็ต้องอาศัยข้อเท็จจริงทางสังคมควบคู่กับหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based) และหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่า (Preponderance evidence) ที่รองรับว่าสังคมส่วนใหญ่อันเป็นภาววิสัยว่าต้องการเช่นนั้นจริง
สังคมขับเคลื่อนไปกับโลกแห่งความเป็นจริงร่วมกัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้สร้างความท้าทายใหม่ ๆ ระบบกฎหมายก็เช่นเดียวกัน การทำความเข้าใจวิทยาศาสตร์การแพทย์และการปรับตัวของกฎหมายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อให้การปกป้องสิทธิและความเป็นธรรมและความเป็นจริงในโลกใบนี้เป็นไปอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย