เมื่อมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แม้ธรรมชาติจะให้มนุษย์รับรู้ได้เพียงสัมผัสทั้งห้า แต่ธรรมชาติก็ให้มนุษย์สามารถเรียนรู้ คิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆได้ สิ่งที่มนุษย์ค้นพบคือความจริงและได้ใช้ประโยชน์จากความจริงเหล่านั้นที่มนุษย์เรียกว่าวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติยังให้มนุษย์สื่อสารได้เกิดความสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวรวมถึงระหว่างมนุษย์ด้วยกันและธรรมชาติให้มนุษย์สามารถก่อความสัมพันธ์ต่างๆให้อยู่ด้วยกันได้ด้วยความดีเลวที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ แต่มนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกันเลยแต่ยังคงตัวตนของตัวเองได้ตลอดอายุ แม้ว่าทุกเซลล์ในร่างกายมีอายุเช่นเซลล์เม็ดเลือดแดงอายุ 120 วัน เซลล์กระดูกอายุนานสุด 6 เดือน เมื่อครบระยะเวลาดังกล่าว เซลล์ทั้งหมดในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงและรีเฟรชใหม่ แต่ความเป็นตัวตนของเรายังคงอยู่ เนื่องจากมีการส่งผ่านข้อมูลพันธุกรรมและความทรงจำที่ทำให้เรายังคงเป็นตัวเรา แม้เซลล์จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ธรรมชาติก็กำหนดให้มนุษย์แต่ละคนมีชีวิตอยู่ได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งบนโลกใบนี้ มีเกิด แก่ เจ็บและตาย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์มีสุขภาพดีขึ้นและอายุยืนขึ้น และการจัดการสังคมกำหนดกรอบจริยธรรมและกฎหมายร่วมกันทำให้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขมากขึ้นกว่าในอดีต
ในยุคชีวภาพทางการแพทย์ก่อเกิดความรู้และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่สามารถตรวจรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้สำเร็จมากขึ้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้การพัฒนาทางการแพทย์ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว เช่นการค้นคว้าจีโนมมนุษย์ประสบผลสำเร็จเร็วกว่าที่คาดไว้ถึงสามเท่า การศึกษาจีโนมและการพัฒนาเทคโนโลยีชีวการแพทย์ โครงการจีโนมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษานานถึง 15 ปี แต่เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนาขึ้น ทำให้การศึกษาและแผนที่พันธุศาสตร์ (Genetic Mapping) สำเร็จในเวลาเพียง 5 ปี ประเทศไทยกำลังเริ่มนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้ในการพัฒนาการแพทย์ ปัจจุบันเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ความท้าทายของ AI ทางการแพทย์ ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมากมายทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยี AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีชีวการแพทย์ AI สามารถช่วยในการตรวจวิเคราะห์มากขึ้น เช่น การตรวจสอบการติดเชื้อที่สามารถดำเนินการได้ภายใน 24 ชั่วโมง แทนที่การเพาะเชื้อที่ใช้เวลาหลายวันในอดีต พัฒนาเครื่องมือต่างๆตรวจได้แม่นยำขึ้น และการตรวจสอบและบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมถึงสามารถช่วยในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี
การค้นพบความรู้ชีวภาพทางการแพทย์ร่วมกับความก้าวหน้าทางเทคโนยี สามารถพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ทั้งในเชิงป้องกัน ส่งเสริม รักษาและฟื้นฟู ใหม่ๆจำนวนมาก และสามารถบริการผู้ป่วยและส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั้น กลับต้องควบคู่ในกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับพัฒนาการเหล่านี้ด้วย ภัยคุกคามเกิดขึ้นทั้งจากผลข้างเคียงจากผลิตภัณฑ์และจากมนุษย์เองหากการพัฒนากฎหมายไม่สามารถพัฒนาได้ทันต่อเหตุการณ์คู่ขนานกัน เช่น การักษาด้วยฮอร์โมน ด้วยเซลล์บำบัด ยีนบำบัด การรักษาที่มุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) รวมถึงการใช้เภสัชกรรมเฉพาะบุคคล (Compounding Pharmacy) ซึ่งหมายถึงการผสมยาที่ออกแบบเฉพาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงการใช้ความรู้มาใช้ในทางที่ก่อผลร้ายด้วย เช่น การตรวจสอบความปลอดภัยของยาที่ผสมเฉพาะรายผ่านกระบวนการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (อย.) และการควบคุมทางกฎหมายของการใช้เภสัชกรรมเฉพาะบุคคล ว่ามีการควบคุมตามข้อกฎหมายหรือไม่ และกฎหมายมีการติดตามและรองรับป้องกันอันตรายจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้หรือไม่ การพัฒนาเทคโนโลยีชีวการแพทย์และการใช้ AI เปิดโอกาสใหม่สำหรับการพัฒนาการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ต้องได้รับการสนับสนุนจากกฎหมายที่ทันสมัย เพื่อให้สามารถรองรับและควบคุมการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การพัฒนาข้อกฎหมายได้ทันเวลาจึงเป็นความท้าทายที่คู่ขนานกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การทำงานร่วมกันระหว่างนักกฎหมาย นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างกรอบกฎหมายที่ตอบสนองต่อความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีชีวการแพทย์ได้อย่างเหมาะสม
โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย