Hospital Architecture โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย

การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในยุคที่ใช้ AI กับนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เริ่มต้นในปัจจุบันมุ่งสู่อนาคตไม่ใช่เรื่องง่ายเพียงแค่การคิดค้นและสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา แต่ยังเกี่ยวข้องกับหลายด้านที่ต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งสิ่งสำคัญที่เราต้องให้ความใส่ใจกับสถานการณ์ปั่นป่วน (Disruption) หลายด้าน โดยหลักสามารถจำแนกได้ 4 ด้าน คือ ด้านมนุษยศาสตร์ (humanity) สิ่งแวดล้อม (environment) สังคมและเศรษฐกิจ (social and economic) การเมือง (politics) และเทคโนโลยีเอง (technology) การพัฒนาเทคโนโลยีในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จึงต้องมีการปรับตัวและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ การเดินทางของเทคโนโลยีทางการแพทย์จะไม่สามารถดำเนินไปในลักษณะเส้นทางตรง ๆ เหมือนที่เคยเป็นมา เพราะเราจะต้องหยุดชะงักกับการที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงจากความปั่นป่วน (disruption) จากปัจจัยหลายด้านดังกล่าวเหมือนอย่างที่เคยปรากฎให้เห็นมาบ้างในอดีตที่ผ่านมา และจะหนักหน่วงยิ่งขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งที่ปรากกฎให้เห็นแล้วอย่างชัดเจนก็คือ โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ตามแผนที่วางไว้ต้องหยุดชะงัก ระบบการแพทย์และสาธารณสุขต้องปรับเปลี่ยนทันทีทันใดเพื่อให้ผ่านช่วงเวลาวิกฤตินั้นได้อย่างสูญเสียน้อยที่สุด แม้วิกฤติที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อความเสียหายอย่างมาก แต่ก็มีบางสิ่งที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีเช่นระบบเทคโนโลยีทางไกลที่พัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการพัฒนาเครื่องมืออุปกรณ์และการปรับเปลี่ยนไปถึงทัศนคติของประชาชนในทิศทางที่ไม่เคยมีมาก่อน การปรับตัวของสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนต่อผู้ป่วยจำนวนมากล้นโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ประสบกับภาระงานที่หนักหน่วงมากแต่สู้กับภัยโรคระบาดได้เป็นอย่างดีกว่าที่เป็นห่วงว่าจะกลายเป็นหายนะมากกว่านี้ หากต้องมีผู้ป่วยหนักจำนวนมากเกินกว่าที่จะคาดคิดได้ อย่างไรก็ตามยังมีสถานการณ์อุทกภัยเป็นอีกภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทุกปี ที่หนักที่สุดคือ ปี 2554 ที่ทำให้กระทบต่อโรงพยาบาลจำเนวนมากที่ต้องอพยพผู้ป่วยกะทันหัน และต้องหยุดให้บริการไปในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นจำนวนมาก เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและการก่อการร้ายที่ภาคใต้ก็จะเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ อุบัติเหตุยังเป็นปัญหาที่สำคัญ รวมถึงมลพิษที่เกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมและมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ก็เป็นภัยคุกคามเรื้อรัง ยังจะต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อมวลมนุษยชาติที่จะต้องเตรียมรับมือในอนคตอันใกล้นี้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับระบบสุขภาพรวมถึงธุรกิจรักษาพยาบาล

ปัจจัยสังคม เศรษฐกิจและการเมือง ล้วนเป็นสถานการณ์ปั่นป่วนต่อการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์และสาธารณสุขที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ ปัจจุบันมีความขัดแย้งทางสังคมสูงมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาหนี้สินของประเทศสูงมากที่ต้องกู้ต่างประเทศจนถึงระดับเพดานที่จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือทางการเงินการคลังของประเทศแล้ว หนี้สินภาคครัวเรือนเองก็สูงมากจนยากที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะหนี้การลงทุนล้วนเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และปรากฎหนี้เสียของสถาบันการเงินจนถูกลดเกรดความน่าเชื่อถือจากสถาบันระหว่างประเทศ ส่วนการเมืองมีปัญหามากโดยเฉพาะปัญหาผลประโยชน์คอรัปชั่นและผลประโยชน์ทับซ้อนของฝ่ายการเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่องนวัตกรรมทางการแพทย์ที่จะไปถึงจุดที่ฝันย่อมชะงักงันไปตามบริบทความปั่นป่วนดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด

ปัญหาที่สำคัญคือความเป็นมนุษย์เองที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งความเป็นตัวตนของแต่ละคนนั้น ระดับความรู้สำนึกของแต่ละคน ความแตกต่างของบุคลิกภาพ ความหลากหลายทางเพศ ความเปราะบางของบุคคล พฤติกรรมการใช้ความคิด ตรรกะ อารมณ์และความรู้สึก ความแตกต่างของหลักคิดและจินตภาพ ค่านิยมและพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างระหว่างเจนเนอเรชั่น เศรษฐานะ ศาสนา การศึกษาและกลุ่มอาชีพ ส่งผลกระทบและก่อความชะงักงันต่อทั้งทิศทางและความสามารถที่จะถึงเป้าหมายได้

สุดท้ายคือตัวเทคโนโลยีเองที่แม้จะมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความปั่นป่วนที่ส่งผลต่อความชะงักงันของการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นเดียวกัน หากไม่ใส่ใจและวางแผนรองรับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เช่น แรงงานต้องถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี อาชีพที่ต้องเปลี่ยนไป ผลกระทบของเทคโนโลยีต่อสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของพลเมือง และหากไม่สามารถพัฒนาระบบความปลอดภัยไซเบอร์ที่ควบคู่ไปด้วยกัน เป็นต้น

สถาปัตยกรรม (architecture) การพัฒนานวัตกรรมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องประกอบด้วยการวางระบบคุณภาพ (quality)และมาตรฐาน (standard) และกฎหมาย (law) ที่จะต้องได้รับการกำกับดูแลในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ระดับของโครงสร้างพื้นฐาน ระดับการจัดการฐานข้อมูล ระดับเทคโนโลยีหลังบ้าน และระดับหน้าบ้าน จนถึงช่องทางติดต่อกับผู้รับบริการหรือประชาชนในการใช้งานจริงอย่างมีประสิทธิภาพ

สถาปัตยกรรมของระบบหรือเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการกำหนดโครงสร้างและการทำงานของเทคโนโลยีนั้น ๆ ซึ่งต้องออกแบบให้มีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับสภาพการณ์ในปัจจุบัน และการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้ ทั้งมาตรฐานและกฎหมายจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมาตรฐานจะช่วยให้การพัฒนาเทคโนโลยีเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด กฎหมายจะช่วยป้องกันความปลอดภัย เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีต้องอยู่ภายใต้กรอบของมาตรฐานและกรอบของกฎหมายเพื่อให้แน่ใจว่าไม่เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ทั้งต่อสังคมและบุคคล การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในทุกขั้นตอนจะช่วยให้สามารถป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ความเข้มแข็งของทั้งสองสิ่งจะช่วยให้สามารถทำงานของเทคโนโลยีทางการแพทย์กับมนุษย์ร่วมกันดูและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดี

ในปัจจุบัน โลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีผลกระทบต่อหลายด้านเหล่านั้น การรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยความร่วมมือและความเข้าใจที่ลึกซึ้งในทุกด้าน ทั้งในเรื่องของสถาปัตยกรรม มาตรฐาน และกฎหมาย รวมถึงการมองเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากสภาพแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ความเป็นมนุษย์และเทคโนโลยีเอง ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีจึงต้องมีการวางแผนและเตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลลัพธ์ที่ดีทั้งในด้านเทคโนโลยีและในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดย ดร.นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย