บทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาแนวทางการพัฒนากฎหมายให้การพิจารณาการกระทำความผิดอาญากรณีประมาทในทางการแพทย์กระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยปกติผู้เสียหายทางการแพทย์มักฟ้องแพ่งเพื่อการชดเชย แต่บางครั้งมีการฟ้องคดีอาญาเพื่อการลงโทษ ส่วนใหญ่การตรวจรักษามักเริ่มต้นจากผู้ป่วยและแพทย์มีเจตจำนงร่วมกัน เว้นแต่มีเจตนาอื่นแอบแฝงหรือผลการรักษาคลาดเคลื่อนจากความคาดหวังหรือเป้าหมาย ความรับผิดทางอาญาจากการกระทำโดยประมาทคดีทางการแพทย์ค่อนข้างยากและอาจไม่เกิดประโยชน์ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การลงโทษให้ผู้กระทำความผิดสำนึกหรือปกป้องสังคม เนื่องจากอาการและการดำเนินโรคของผู้ป่วยมีความซับซ้อน เป็นการดูแลรักษาโดยบรรดาผู้ประกอบวิชาชีพหลายคนเป็นทีมที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับแต่ละโรคของผู้ป่วยในแต่ละครั้งที่มารับบริการ เป็นความรู้ที่จำเพาะ อีกทั้งมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการ เช่นพยาธิสภาพและระยะของโรค สุขภาพของผู้ป่วย ขีดความสามารถและระบบจัดการของสถานพยาบาล ความรู้ความชำนาญของแพทย์ ระบบสาธารณสุขของประเทศ ยากที่จะพิจารณาตามทฤษฎีเหตุที่เหมาะสมว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุร่วมกัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะยอมรับผลความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ เว้นแต่ผลลัพธ์เสียหายไกลกว่าที่คาดหวังซึ่งก็เป็นการยากที่จะพิจารณาตามทฤษฎีผลที่เหมาะสมเพียงประการเดียว การดูแลรักษาในหลายกรณีเป็นการกระทำหลายอย่างต่อเนื่องกันปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของโรค มีโอกาสเกิดความผิดพลาดทางการแพทย์ขึ้นได้เสมอ บางกรณีก็เป็นเหตุสุดวิสัยไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลจึงเป็นเรื่องยาก การพิสูจน์ระดับความระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อความเสียหายต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก การละเว้นจากการใช้ความระมัดระวังเพียงเล็กน้อยที่ก่อให้เกิดความเสียหายควรถือเป็นความผิดชนิดเบา แต่ในบางกรณีถ้าผู้ประกอบวิชาชีพเพียงใช้ความระมัดระวังเล็กน้อยก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายได้กลับไม่ได้ใช้ความระมัดระวังนั้นเลยเมื่อเกิดความเสียหายจึงจะถือว่าเป็นความผิดมาก บทบัญญัติเกี่ยวกับความประมาทในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ระบุระดับของความประมาทไว้ดังเช่นในต่างประเทศ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการตีความและการปรับใช้ให้เกิดความเหมาะสมกับการพิจารณาความประมาทในทางการแพทย์ ในคดีอาญาทางการแพทย์จำเป็นต้องพิจารณาสภาวะทางจิตใจด้วยคือการพิจารณาข้อบกพร่องของเจตจำนงของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพผู้นั้นว่ากระทําฝ่าฝืนมาตรฐานความระมัดระวังหรือไม่ พิจารณาสภาวะทางจิตใจของผู้กระทําเป็นอัตวิสัยและคำนึงถึงภววิสัยหรือคุณธรรมทางกฎหมายประกอบด้วย ในต่างประเทศมีการพิจารณาสภาวะทางจิตใจในอาญาเพิ่มขึ้นจากพลั้งเผลอคือประมาทโดยจงใจ คือบุคคลที่รู้ชัดถึงการเสี่ยงต่อภยันตรายแต่ก็ยังคงกระทำต่อไป หรือละเลยที่จะคิดว่าอาจจะมีภยันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นทั้งที่เป็นภยันตรายที่สามารถเห็นได้ชัดเจน การพัฒนากฎหมายไทยให้มีระดับความประมาทอย่างร้ายแรงน่าจะส่งผลให้การการพิจารณาการกระทำความผิดอาญากรณีประมาทในทางการแพทย์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
คลิกเพื่ออ่านเอกสาร
>> บทความวิชาการ ความรับผิดอาญาทางการแพทย์ จากความประมาทอย่างร้ายแรง <<